www.maeloi.go.th
ประชาชนอยู่ดี กินดี สัญจรดี การศึกษาดี สามัคคี มีศีลธรรม

โทรศัพท์

0-5317-8580

158 หมู่ 8 บ้านสันเจริญ ตำบลแม่ลอย
อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย 57230

ศาลเจ้าพ่อหนองข่วง

 ชุมชนบ้านเกี๋ยงหนองข่วง  เป็นชุมชนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากจังหวัดน่าน  อพยพมาตั้งถิ่นฐาน  ในยุค “เก็บผักใส่ซ้า  เก็บข้าใส่เมือง”  ซึ่งแต่ละหัวเมืองใหญ่มักจะทำศึกสงคราม  สำแดงความเก่งกล้าสามารถของผู้เป็นเจ้าเมือง  ผู้ชนะจะกวาดต้อนผู้คนตลอดจนทรัพย์สินมีค่ากลับไปบ้านเมืองของตน  กล่าวเฉพาะเมืองเทิงกับเมืองน่าน  เมืองใหญ่อันดับต้นๆที่มีเจ้าเมืองปกครอง  ก็ทำสงครามผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ  คนเมืองน่านส่วนหนึ่งจึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานแถบทางทิศตะวันออกของหนองน้ำที่ชื่อว่า “หนองข่วง”  สาเหตุที่ต้องอาศัยแถบใกล้ๆแหล่งน้ำ ก็เพราะชุมชนสมัยนั้นมักประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต้องอาศัยน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์  ให้ชื่อชุมชนว่า “บ้านเกี๋ยง หนองข่วง”  โดยมีการนำเอา “เมี่ยงและวัฒนธรรมการกินเมี่ยง”  จากถิ่นกำเนิด จ.น่าน มาด้วย

           “เกี๋ยง”  ในความหมายหนึ่ง หมายถึง  สภาพซากก้อนหินก้อนใหญ่เรียงกันเป็นรูปกากบาท คำ

เมืองเรียกว่า “ไขว่เกี๋ยง”   อีกความหมายหนึ่ง  เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง คือ “ต้นเกี๋ยง”  พันธุ์ไม้ยืนต้น  ดอกสีเหลืองอมขาว  กลิ่นหอม  ใบเรียวยาวคล้ายใบเตย  ขอบใบมีหนามแข็ง  ลำต้นขนาดใหญ่สุด เท่าโคนขา  ขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วบริเวณ  จึงนำมาเป็นชื่อหมู่บ้าน

             “ข่วง”  หมายถึง  ลานสำหรับทำกิจกรรมหรือที่โล่งกว้าง สำหรับประกอบพิธีกรรม  “หนอง

ข่วง”จึงน่าจะหมายถึง ลานกว้างที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำขัง  จนเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำจืดหลายชนิด

              ณ  ลานกว้างแห่งนี้นี่เองเป็นที่มาของตำนานเจ้าพ่อหนองข่วง  ที่เล่ากันถึง สถานที่ฝึกซ้อมของ

นักรบโบราณ  เพื่อเตรียมทำศึกษาปราบต่อหลวงหรือต่อยักษ์

              ตามตำนานเล่าว่า………….

          ณ  เมืองเจ็ดลิน หรือ เมือง เชษฐบุรีเวียงสวนดอกนพบุรี (ปัจจุบันอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และแถบโรงพักเวียงพิงค์)  เป็นเมืองที่มีมาก่อนที่พญามังรายจะตั้งเมืองกุมกามและนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่  เมืองเจ็ดลินมีเจ้าผู้ครองเมือง พระนามว่า พญาโจราณี  พระองค์มีโอรสพระนามว่า เจ้าหลวงสุวรรณคำแดง หรือเจ้าหลวงคำแดง   พระองค์ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์เมืองเจ็ดลิน มาอย่างร่มเย็นสงบสุข  เจริญรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม  พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์  ไร้เหตุเพศภัยใดๆ ในบ้านเมือง

           เจ้าหลวงสุวรรณคำแดง  พระโอรส  มีความเก่งกล้าปรีชาสามารถในการสู้รบด้วยอาวุธทุกชนิด  และมีความสามารถพิเศษด้านเวทมนตร์คาถา  สยบภูตผีปีศาจต่างๆได้  จึงเป็นที่เคารพรักของบรรดาชนเผ่าต่างๆ  แถบบริเวณดอยเชียงดาว  หรือเวียงเชียงดาว ที่ท่านได้รับบัญชาจากพญาโจราณี  ให้ขึ้นปกครอง ท่านก็สามารถปราบกบฎผู้กระด้างกระเดื่องไม่สวามิภักดิ์  เช่น พวกจีนฮ่อที่เข้ามาบุกรุกเวียงเชียงดาว

ทางด้านทิศเหนือของเมืองเจ็ดลิน  ประมาณร้อยกว่ากิโลเมตร  มีถ้ำแห่งหนึ่งชื่อว่าถ้ำเชียงดาว เป็นที่อยู่อาศัยของฤาษีตนหนึ่ง  มีนามว่า  เจ้าปู่ฤาษีอูคันธะ  ซึ่งเลี้ยงดูนางผีเสื้อยักษ์ตนหนึ่งเป็นบุตร  มีนามว่า นางยักษ์อินเหลา  นางอาศัยอยู่กับฤาษีก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆจากฤาษีอูคันธะไว้มากมาย  จนสามารถเนรมิตแปลงกายเป็นสรรพสิ่งที่นางต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์  หรือบันดาลเหตุ เพศภัยต่างๆได้  ต่อมานางได้พบเจ้าหลวงคำแดง  และหลงรักในทันที  จึงได้แปลงร่างเป็นนางพญากวางคำ  หลอกล่อเจ้าหลวงสุวรรณคำแดง ให้เดินทางติดตาม นางพญากวางคำ จนถึง ถ้ำเชียงดาว  นางได้แปลงร่างเป็นสาวงาม  จนเจ้าหลวงสุวรรณคำแดงหลงรัก และได้นางเป็นมเหสี

ต่อมาเกิดเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัวขึ้นที่ชายแดนระหว่างเมืองเชียงดาวกับเมืองเจ็ดลิน  มีฝูงต่อยักษ์และต่อหลวง  ด้วยอิทธิฤทธิ์ของนางยักษ์อินเหลา  ได้เข้าทำร้ายเด็กทารก  รุมต่อย และจับเอาเด็กทารกนั้นไปเป็นอาหารของพวกมัน  สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อยู่ในละแวกนั้น  ข่าวตัวต่อยักษ์และต่อหลวงอาระวาดจับเด็กไปกิน  แพร่สะพัดไปยังหมู่บ้านต่างๆ  สร้างความหวาดกลัวจนถึงต้องตั้งเวรยามเฝ้าระวังหมู่บ้าน  ชายฉกรรจ์ ต่างต้องฝึกฝนจับอาวุธเท่าที่มี  ทั้งมีด หอก ดาบ หน้าไม้(ธนู)  เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวต่อมาจับลูกหลานคนในหมู่บ้าน  แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแรงอิทธิฤทธิ์ของตัวต่อได้  เด็กทารกคนแล้วคนเล่าต้องสังเวยกับความเหี้ยมโหดของตัวต่อ

  ในที่สุดชาวบ้านทั้งหลายจึงพากันเข้าเฝ้าเจ้าโจราณี และกราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ  เจ้าโจราณีจึงมอบหมายให้เจ้าหลวงคำแดงหาวิธีดำเนินการปราบตัวต่อ  เพื่อลดความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์  เจ้าหลวงคำแดงจึงบัญชาให้แม่ทัพนายกอง  โดยการนำของ  เจ้าคำลือ  ท้าวคำฟอง  ท้าวคำเสาร์  ท้าวโลก  เจ้าหมวกคำ  เจ้าพรหมจักร วิทยาจารย์(ครูฝึกทหาร) พร้อมด้วยทหารเอกผู้เรืองวิทยาคม จำนวนหนึ่ง  ออกติดตามปราบปรามตัวต่อ  โดยใช้ซากทารกที่ตายแล้ว  พร้อมด้วยก้อนเนื้อแดง  ผูกด้วยผ้าขาวผ้าแดงยาว ๑ ฮำ(๑ ฮำ ยาวประมาณ ๒๐ วา)เป็นเหยื่อล่อ  เมื่อตัวต่อจับซากเด็กและก้อนเนื้อที่ผูกด้วยผ้าขาวผ้าแดง  บินหนี  ทหารก็ติดตามโดยสังเกตจากผ้าดังกล่าว  เพื่อให้ไปถึงรังของตัวต่อ

   กองกำลังทหารได้ติดตามตัวต่อผ่านเมืองเชียงเคี่ยน เข้าสู่เขตเมืองเทิง  จนกระทั่งบรรลุถึง  พื้นที่หนึ่งที่มีอาณาบริเวณเป็นลานกว้าง  มีทำเลเหมาะสมสำหรับการฝึกทบทวนยุทธวิธีการต่อสู้กับต่อยักษ์  จึงได้หยุดตั้งค่ายพักบริเวณป่าละเมาะอันเป็นลานกว้างนั้น   และทำการฝึกซ้อมสรรพาวุธทั้ง มีด หอก ดาบ โล่  ธนูไฟ หน้าไม้ รวมทั้งฝึกฝนคาถาอาคม เป็นเวลานานหลายเดือน  จนลานฝึกซ้อมแห่งนั้น  เป็นแอ่งลึกลงไป กลายเป็นหนองน้ำ (ปัจจุบัน คือ หนองข่วง อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่ลอย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย)  เมื่อพร้อมที่จะต่อกรกับฝูงต่อหลวง ต่อยักษ์แล้ว  เจ้าคำลือก็นำกำลังไพร่พลก็ออกเดินทางติดตามตัวต่อ  โดยเดินทัพผ่าน เมืองเทิง  โดยมีจุดหมายปลายทางที่รังของต่อหลวงต่อยักษ์  ตามที่ม้าเร็วได้สะกดรอยติดตาม เมื่อไปถึงบริเวณเนินเขาแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของยอดเขาสูงตระหง่านที่คาดว่าน่าจะเป็นที่อยู่ของรังต่อยักษ์  จึงให้ตั้งกองกำลังทหาร ณ บริเวณนั้น  และให้ทหารจัดเวรยามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง คอยสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของต่อยักษ์  ทหารเวรยามได้นอนคอยดูฝูงต่อยักษ์  จึงเรียกบริเวณที่นอนดูนั้นว่า “บ้านนอนแยง” (แยง เป็นคำเมือง แปลว่า ดู)  ปัจจุบันเพี้ยนเป็น “บ้านดอนแยง”

เมื่อรู้แน่ชัดว่าฝูงต่อยักษ์อาศัยอยู่บริเวณยอดดอยนั้นจริง  เป็นฝูง “ต่อหลุม”  (จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บริเวณนั้น ได้รับการยืนยันว่า มีอยู่จริง โดยมีหลักฐานอ้างอิง เป็นหลุมต่อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2๒ เมตรเศษ)  จึงได้วางแผนจัดทัพ  แบ่งกำลังทหารออกเป็นหลายกอง  โดยกองกำลังทหารที่มีท้าวคำเสาร์เป็นหวัหน้า  เดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือของที่นอนสังเกตการณ์(นอนแยง)  ไปตั้งกองกำลังอยู่บริเวณเชิงดอย ด้านทิศตะวันตกซึ่งสามารถขึ้นสู่ยอดดอยโดยไม่ยากเย็นนัก  ฝูงต่อยักษ์ได้กลิ่นทหารจึงรุมเข้าโจมตีกองทหารของท้าวคำเสาร์  เกิดการต่อสู้กันขึ้นระหว่างตัวต่อกับคน ฝูงต่อถอยร่นขึ้นไปที่รังหรือหลุมของตนเอง บริเวณนั้นต่อมาเรียกว่า จุดทัพต่อหรือตับต่อ  และเพี้ยนเป็นบ้านตับเต่าในปัจจุบัน  ผลจากการต่อสู้  มีการสูญเสียทั้งสองฝ่าย  ท้าวคำเสาร์พลาดท่าตกลงไปในหลุมต่อเสียชีวิต

ส่วนกองกำลังของ ท้าวคำฟอง  เจ้าหมวกคำ ท้าวโลก เจ้าพรหมจักร และวิทยาจารย์  จัดทัพใหญ่บุก

ตลุยขึ้นยอดเขาทางด้านทิศใต้  ซึ่งเป็นทางขึ้นที่ยากลำบาก เพราเต็มไปด้วยหนาผาสูงชัน  ฝูงต่อได้กระสากลิ่นมนุษย์  จึงพากันเข้าโจมตี  ฝ่ายกองกำลังมนุษย์ก็ใช้วิทายยุทธ์เข้าห้ำหั่นต่อสู้เต็มกำลังความสามารถ  มีการใช้ธนูไฟยิงเข้าถล่มหลุมต่อ  การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด  เจ้าหมวกคำและท้าวคำฟองพลาดท่าตกลงไปในหลุมต่อเสียชีวิต ส่วนกำลังทหารและฝูงต่อบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  นอนตายทับถมเต็มลำห้วย  ซึ่งต่อมาเรียกว่า ห้วยต่อฆ่า  ปัจจุบันเพี้ยนเป็นห้วยต่อคา  ในพื้นที่บ้านสันป่าสัก  อ.เทิง

           กองกำลังทหารที่เหลือหลอกล่อฝูงต่อลงมาที่ลำห้วยอีกแห่งหนึ่ง  ทำการต่อสู้ฆ่าฟันล้มตาย  กลิ่นคาวเลือดเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณดอยและลำห้วย  ที่เรียกว่า  ดอยและห้วยเอียน ตราบจนทุกวันนี้ (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่บ้านห้วยเอียนและบ้านม่วงแก้ว  อ.เทิง)

            ผลของการต่อสู้ในครั้งนั้น ทำให้ต่อยักษ์ต่อหลวงถูกฆ่าตายหมดทั้งฝูง และทำให้แม่ทัพคนสำคัญเสียชีวิตพร้อมกำลังทหารส่วนหนึ่ง ก็คือ ท้าวคำเสาร์  ท้าวคำฟอง  เจ้าหมวกคำ  ปัจจุบันชาวบ้านตำบลตับเต่าได้ตั้งศาลเพียงตาและปั้นหุ่นจำลองของ ท้าวคำเสาร์ ไว้ตรงหัวบ้าน  ส่วนที่บ้านม่วงแก้วเชิงดอยเอียน ชาวบ้านก็ตั้งศาลเพียงตาและหุ่นจำลองของท้าวคำฟอง  เจ้าหมวกคำ พร้อมต่อหลวงไว้ เช่นกัน

             ส่วนท้าวโลก  ท้าวพรหมจักร และวิทยาจารย์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากพิษเหล็กในของต่อยักษ์ พร้อมกำลังทหารที่เหลือ ได้เดินทางกลับเส้นทางเดิม  จนถึงลานฝึกซ้อม หรือหนองข่วง  ท่านทั้งสามทนพิษบาดแผลไม่ไหว  จึงเสียชีวิตตรงบริเวณนั้น  ต่อมาชาวบ้านที่มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ใกล้หนองน้ำ  จึงได้ตั้งศาลเพียงตา  และปั้นหุ่นจำลองของวิทยาจารย์ ขึ้นไว้บนศาล  ขนานนามท่านเป็นศิริมงคล ตามชื่อหมู่บ้านว่า “ศาลเจ้าพ่อหนองข่วง”  พร้อมตั้งศาลเล็กสำหรับท้าวโลกและวิญญาณทหารบางส่วน  ไว้ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อหนองข่วงตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบ้านเกี๋ยง “คุรุราษฎร์วิทยา”  สืบทอดความศรัทธาต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่า  ด้วยบุญญาบารมีของเจ้าพ่อหนองข่วงจะช่วยปกปักรักษา ปกป้องผองภัย ภยันตรายทั้งปวง  และช่วยดลบันดาลให้สมความปรารถนาในสิ่งที่ผู้เคารพศรัทธาได้บนบานศาลกล่าวไว้